ในที่สุดผมก็มาถึงจุดสำคัญที่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าเคยเสด็จประทับอยู่เป็นเวลานาน ณ มูลคันธกุฎี สถานที่ประทับแห่งนี้ มีพุทธศาสนิกชนหมุนเวียนขึ้นมาถวายสักการะอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย ซึ่งดูเหมือนจะวุ่นวายอยู่ไม่น้อย แต่วันนี้ผมกลับรู้สึกถึงความสงบในใจอย่างประหลาด คงไม่ได้เกิดจากความสำคัญแห่งสถานที่ หากแต่เกิดจากการระลึกถึงความสำคัญแห่งคำสอนของพระพุทธองค์ และความสงบในจิตใจของเราเองต่างหาก
จากหนังสือ… สู่แดนพระพุทธองค์ อินเดีย-เนปาล ตอนหนึ่งกล่าวไว้ว่า “มูลคันธกุฎี แห่งเขาคิชฌกูฏนี้ เป็นสถานที่สำคัญเพื่อการระลึกถึงพระพุทธองค์ ซึ่งเสด็จมาประทับ ณ ยอดเขานี้อยู่เสมอ บริเวณที่ประทับของเดิมเป็นกุฏิแคบๆเหมาะที่จะนั่งมากกว่านอน วัดดูด้วยศอกได้กว้าง ๓ ศอกคืบ ยาว ๔ ศอกเท่านั้น นับว่าความจำเป็นของมนุษย์ในเรื่องอาศัยมีเท่านี้เอง คือเพียงนั่งได้และนอนได้เท่านั้น”
มูลคันธกุฎี ขนาดกว้างยาวเพียงพอให้คน 1 คนนอนได้เท่านั้นเอง
พระอาจารย์มหาสิงห์ และ พระแฟรงค์ ได้นำพวกเรากล่าวคำสวดมนต์ เจริญสติ และนั่งสมาธิ ตามเวลาอันสมควนก่อนทำประทักษิณาวัตรเพื่อระลึกถึงพระพุทธองค์อีกครั้งก่อนกราบลา
พระธิเบตที่มาปฏิบัติธรรมในบริเวณใกล้ๆกับ มูลคันธกุฎี
ลืมเล่าไปครับว่า การเดินขึ้นลงเขาคิชฌกูฏ นั้นไม่ยาก ทางเดินเป็นพื้นปูนอย่างดีและไม่ชัน ระยะทางไปกลับก็ไม่น่าจะเกิน 3-4 กิโลเมตร แต่ถ้ามีข้าวของสัมภาระเยอะก็แนะนำให้ใช้บริการสะเหรี่ยงก็สบายดีครับ สนนราคาก็ไม่แพงมากเพียง 900 รูปีหรือประมาณ 600 กว่าบาทครับ การให้ทิปคนแบกสะเหรี่ยงก็แนะนำว่า ให้ทีเดียวตอนจบจะดีกว่าครับ เพราะถ้าให้ตามที่คนแบกขอตามทาง แขกก็จะขอไปเรื่อยๆไม่ยอมหยุดขอ ผมดันใจดีไปให้ช่วงขาขึ้นเพราะเห็นเขาเหนื่อยมาก พอลงมาแขกก็ขออีก ก็ต้องให้ไปอีกครับ แต่รวมๆค่าทิปแล้วก็ถือว่าโอเคครับ ให้เขาได้รับค่าเหนื่อยไปตามสมควร
ภาพจากยอดเขาคิชฌกูฏมองเห็นทางขึ้นลงไกลๆด้านขวามือ
ที่ราชคฤห์นี้ผมได้พบกับโยคีท่านหนึ่ง ซึงท่านก็มีเมตตาให้พวกเราได้ร่วมถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึก หลายคนกลัวที่จะเข้าไปพูดคุย หลายคนกลัวว่าจะเป็นโยคีปลอม หลายคนกลัวว่าจะโดนขอเงิน … หลายคนกลัวอินเดียจนอาจพลาดอะไรๆดีๆไปก็เป็นได้
จากการอ่านหนังสือเพิ่มเติมและดูจากลักษณะการแต่งตัวของโยคีท่านนี้ทำให้ทราบว่าท่านเป็น ชฎิล คือเป็นนักบวชประเภทสันยาสี ที่มวยผมขึ้นตั้งสูง มีความเชื่อในการล้างบาปด้วยน้ำและไฟ ชฎิลจะมีกิจวัตรประจำวันอยู่ ๒ ประการคือ อาบน้ำและบูชาไฟทุกวัน มีพิธีการบูชาใหญ่ปีละครั้ง เรียกว่า มหายัญ กับพิธีอาบน้ำใหญ่เรียกว่า คยาผัลคุนี หลักยึดสำคัญคือการบูชาความสะอาดบริสุทธิ์ ไม่ติดอยู่ในกามอีกต่อไป
“ราชคฤห์ มหานครแห่งแคว้นมคธ จัดว่าเป็นนครใหญ่ ๑ ใน ๖ นครของอินเดียโบราณ ตั้งอยู่ทางทิศบูรพาของชมพูทวีป เมืองนี้มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น คิริวราช กุสาครปุระ พารหัทรถปุระ ราชคหะ เป็นต้น และในคัมภีร์พุทธศาสนากับศาสนาเชน(ชีเปลือย) เรียกว่า กุสาคร เพราะเหตุว่ามีหญ้าชนิดหนึ่งชื่อ “กุสะ” ขึ้นเต็มเมือง ในหนังสือรามเกียรติ์ เรียกเมืองนี้ว่า “วสุมาตี” เพราะกษัตริย์วสุเป็นผู้สร้าง ตามตำนานเมืองราชคฤห์นี้ ทหาโควินท์ วิศวกรเอกในสมัยโน้นเป็นผู้ออกแบบ และอำนวยการสร้าง เดิมเมืองนี้ที่ชื่อ “กุสาคร” อยู่บนภูเขา ถูกไฟป่าไหม้บ่อยๆจึงสร้างเมืองใหม่ที่เชิงเขา มีผู้เรียกเมืองราชคฤห์ที่สร้างใหม่ว่า “พิมพิสาปุระ” ก็มี”
รถบัสจอดรอผมอยู่ด้านหลัง โยคีท่านโบกมือให้เหมือนเป็นการอำนวยพรให้พวกเราเดินทางต่อไปด้วยความสวัสดี และถ้ามีโอกาสผมคงจะได้กลับมาเยือนที่นี่อีก