จากคิชฌกูฎผมเดินทางต่อมาที่ วัดเวฬุวันมหาวิหาร ซึ่งอยู่ไม่ไกลกันมากนัก นั่งรถบัสไม่น่าจะเกิน 30 นาทีก็ถึง ทีนี้เราได้พบอุบาสิกาจากเมืองไทยท่านหนึ่งที่ได้อุทิศตนมาอยู่ที่นี้เพื่อทำงานบูรณะศาลาไทยในบริเวณวัดเวฬุวันให้ดูสวยงามกว่าที่เป็นอยู่ จากการสอบถามท่านต้องใช้เวลาในการรวบรวมปัจจัยต่างๆและจะต้องทำงานบูรณะอีกนานจึงจะแล้วเสร็จ น่าจะราวปีหรือสองปีตามแต่จะมีผู้ร่วมบุญ .. นับว่าท่านต้องใช้ความวิริยะ อุตสาหะเป็นอย่างมาก ถ้าไม่ได้ทำด้วยใจแล้วคงไม่มีวันสำเร็จได้ ผมร่วมทำบุญไปตามกำลังและอนุโมทนาบุญกับท่าน ขอให้ท่านทำงานสำเร็จลุล่วงตามความตั้งใจอันดี พระมหาสิงห์นำเราไปสักการะองค์พระพุทธรูป ทำทักษิณาวัตร ตามเวลาอันสมควรก่อนเดินทางต่อไปยังเมืองนาลันทา
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก Wikipedia กล่าวไว้ว่า วัดเวฬุวันมหาวิหาร หรือ พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน เป็นอาราม (วัด) แห่งแรกในพระพุทธศาสนา ตั้งอยู่ใกล้เชิงเขาเวภารบรรพต บนริมฝั่งแม่น้ำสรัสวดีซึ่งมีตโปธาราม (บ่อน้ำร้อนโบราณ) คั่นอยู่ระหว่างกลาง นอกเขตกำแพงเมืองเก่าราชคฤห์ (อดีตเมืองหลวงของแคว้นมคธ) รัฐพิหาร ประเทศอินเดียในปัจจุบัน (หรือ แคว้นมคธ ชมพูทวีป ในสมัยพุทธกาล)
คำว่า เวฬุวัน แปลว่า สวนไผ่ เดิมอารามแห่งนี้เป็นพระราชอุทยานของพระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์แคว้นมคธ ตั้งอยู่นอกเมืองราชคฤห์ เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วได้เสด็จไปยังเมืองราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสารพร้อมด้วยข้าราชบริพารเข้าไปเฝ้า หลังจากทรงสดับธรรมแล้วทรงเลื่อมใสจึงถวายสวนเวฬุวันเป็นพุทธบูชา ด้วยทรงเห็นว่าเป็นที่สงบร่มรื่น เหมาะสำหรับอยู่บำเพ็ญธรรมของพระสงฆ์ ถือกันต่อมาว่าสถานที่นี้เป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา เรียกว่า วัดเวฬุวันมหาวิหาร นอกจากนี้วัดนี้ยังเป็นสถานที่พระพุทธเจ้าแสดงโอวาทปาติโมกข์แก่พระสาวกจำนวน 1,250 รูป แล้วส่งไปเป็นพระธรรมทูตประกาศพระศาสนา อันเป็นที่มาของวันมาฆบูชา
วัดเวฬุวันมหาวิหาร ปัจจุบันยังคงอยู่ เป็นซากโบราณสถานในสวนไผ่ที่ร่มรื่น มีสระน้ำขนาดใหญ่ภายใน มีรั้วรอบด้าน อยู่ในความดูแลของทางราชการอินเดีย
เดิมวัดเวฬุวันเป็นพระราชอุทยานสำหรับเสด็จประพาสของพระเจ้าพิมพิสาร เป็นสวนป่าไผ่ร่มรื่นมีรั้วรอบและกำแพงเข้าออก เวฬุวันมีอีกชื่อหนึ่งปรากฏในพระสูตรว่า “พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน” หรือ “เวฬุวันกลันทกนิวาป” (สวนป่าไผ่สถานที่สำหรับให้เหยื่อแก่กระแต) พระเจ้าพิมพิสารได้ถวายพระราชอุทยานแห่งนี้เป็นวัดในพระพุทธศาสนาหลังจากได้สดับพระธรรมเทศนาอนุปุพพิกถาและจตุราริยสัจจ์ ณ พระราชอุทยานลัฏฐิวัน (พระราชอุทยานสวนตาลหนุ่ม) โดยในครั้งนั้นพระองค์ได้บรรลุพระโสดาบันเป็นพระอริยบุคคลใน พระพุทธศาสนา และหลังจากการถวายกลันทกนิวาปสถานไม่นาน อารามแห่งนี้ก็ได้ใช้เป็นสถานที่สำหรับพระสงฆ์ประชุมจาตุรงคสันนิบาตครั้ง ใหญ่ในพระพุทธศาสนา อันเป็นเหตุการณ์สำคัญในวันมาฆบูชา
ที่นาลันทา
“อาจารย์ อาจารย์ ช็อคโกเลต ช็อคโกเลต”
“อาจารย์ อาจารย์ ช็อคโกเลต ช็อคโกเลต”
เสียงที่ได้ยินคือเสียงของเด็กชายชาวอินเดียที่กระโดดเกาะด้านท้ายของรถลากเทียมลา ซึ่งผมนั่งหันหน้าเข้าหาเด็กๆพอดี พวกเขาส่งยิ้มให้พร้อมกับพูดคำซ้ำๆแบบเดิม
“อาจารย์ อาจารย์ ช็อคโกเลต ช็อคโกเลต”
“อาจารย์ อาจารย์ ช็อคโกเลต ช็อคโกเลต”
“ชื่ออะไร” ผมถามกลับเป็นภาษาไทย “พูดภาษาไทยได้ไหม” ดูพวกเขา งง งง ผมจึงได้รับคำตอบ
“What’s your name?” ผมถามเด็กคนแรก
“Kamal Kumar” เด็กคนแรกตอบ
“Sanchai Kumar” เด็กคนที่สองตอบ
แล้วก็วกกลับมาเรื่องเดิม
“อาจารย์ ช็อคโกเลต อาจารย์ ช็อคโกเลต”
“อาจารย์ ช็อคโกเลต อาจารย์ ช็อคโกเลต”
“Sorry, I don’t have” ผมตอบกลับไป
แต่เด็กๆก็ยังไม่เลิกวิ่งตาม จนผมเริ่มใจอ่อน หันมองซ้าย มองขวา ว่าไม่มีกลุ่มเด็กอื่นอยู่ใกล้ๆ ผมจึงเอามือล้วงไปในกระเป๋า หยิบช็อคโกเลตชาเขียว ที่เตรียมมาจากเมืองไทยยื่นให้ Kamal Kumar แล้วก็ยื่น ช็อคโกเลตชาเขียวอีกแท่ง ให้ Sanchai Kumar ทันทีที่เด็กๆได้ช็อคโกเลตราคา 20 บาทไปแล้ว พวกเขาก็เลิกวิ่งตามรถลากทันที
แต่ไม่นานนัก เด็กๆจากที่ไหนไม่รู้ ร่วม 10 คนเห็นจะได้ วิ่งเข้าหารถลากที่ผมนั่งอยู่ รวมทั้งผู้ใหญ่ที่เป็นคนขี่รถลากคันอื่น ก็วิ่งเข้ามาขอช็อคโกเลตชาเขียวด้วย ผมคิดในใจว่า หาเรื่องแล้วไง
หยิบช็อคโกเลตขึ้นมาได้อีก 2 แท่ง ยื่นให้พวกเขา เด็กคนหนึ่งรีบรับไปแล้วก็วิ่งหนีออกจากกลุ่ม ส่วนอีกแท่งผมทำหล่นพื้น งานนี้เลยเกิดการมะรุมมะตุ้มกันยกใหญ่
…แล้วรถลากเทียมลาของผมก็วิ่งห่างออกมาๆ จากความโกลาหลนั้น
ความจริงผมเตรียมช็อคโกเลตชาเขียวจากเมืองไทยมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ ร่วม 100 แท่ง แต่ว่ากว่าจะให้ช็อคโกเลตชาเขียวแก่พวกเขาได้ มันต้องตั้งสติดีๆหน่อยก่อนละครับ
รถเทียมม้า ในบริเวณมหาวิทยาลัยแห่งนาลันทา
พวกเราเดินทางไปสักการะหลวงพ่อองค์ดำก่อนจะเดินทางต่อไปยังมหาวิทยาลัยแห่งนาลันทาซึ่งอยู่ไม่ไกลกันนัก ได้เห็นบรรยากาศที่เด็กๆวิ่งตามรถเทียมลาขอเงินกันแล้วก็รู้สึกดีครับ ดูๆแล้วเด็กๆก็มาขอกันสนุกๆละครับ ไม่น่าจะใช่ขอทานอาชีพ นั่งรถเทียมลาไม่นานนักรถก็มาถึงที่ประดิษฐานของหลวงพ่อองค์ดำ ซึ่งมีลักษณะเป็นโบสถ์แคบๆพอให้คนนั่งได้แค่ 10 กว่าคนเท่านั้นเอง ลักษณะองค์พระทำจากหินแกรนิตสีดำทั้งองค์ พระท่านเล่าให้ฟังว่าเป็นเรื่องแปลกที่องค์พระพุทธรูปรอดพ้นจากการบุกทำลายของกองทัพชาวเติรกส์ได้ ทั้งๆที่ระยะทางจากมหาวิทยาลัยนาลันทากับหลวงพ่อองค์ดำห่างกันไม่มาก เท่าที่ผมกะระยะทางดูไม่น่าจะเกิน 1-2 กิโลเมตร
ที่นี้ผมถวายพวงมาลัยดอกเบญจมาศที่เด็กๆชาวฮินดูนำมาขาย ราคาเพียง 20 รูปี ซึ่งถือว่าไม่แพงเลย เพราะวัดความยาวพวงมาลัยดูแล้วน่าจะยาวกว่า 2 เมตรเลยทีเดียว ผมให้เด็กไป 20 บาท เด็กๆไม่ปฏิเสธครับเพราะเงินเราใหญ่กว่าอยู่แล้ว
หลวงพ่อองค์ดำแห่งเมืองนาลันทา
ปกติแล้วการไปสักการะองค์พระพุทธรูปที่ใดก็ตาม ทางการอินเดียจะขอความร่วมมือพุทธศาสนิกชนมิให้ปิดทองคำเปลวบริเวณเศียรพระหรือองค์พระครับ แต่เท่าที่เห็นก็ดูเหมือนจะไม่ได้รับความร่วมมือเท่าไหร่ ที่ถูกแล้วการปิดทองคำเปลวควรจะปิดในบริเวณกำแพงรอบๆตามคำแนะนำของทางการอินเดียเท่านั้น หลังจากไหว้พระ ทำสมาธิตามสมควรแก่เวลาก็กราบลา
ที่บริเวณด้านนอกโบสถ์ผมได้พบพ่อค้าชาวฮินดูคนหนึ่งถูกไฟคลอกที่ใบหน้าจนเสียโฉม เขาพูดภาษาไทยได้ดีและมีความสุภาพอ่อนน้อมมาก เขาเสนอพระพุทธรูปองค์ดำมาให้ผมองค์หนึ่ง ซึ่งตรงใจกับที่ผมกำลังมองหาอยู่ … ผมจึงไม่ลังเลที่จะเช่าบูชาหลวงพ่อองค์ดำจากเขา โดยไม่ได้สอบถามจากพ่อค้าคนอื่นๆเลย
… เห็นชายผู้นี้แล้ว ก็อดไม่ได้ที่จะทำให้นึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยแห่งนาลันทา เมื่อร่วมพันปีก่อน