ไปอินเดียเที่ยวนี้เหมือนอยู่ในธิเบตเลยครับ เพราะไม่ว่าจะไปที่ไหนๆก็จะ พบ ชาวธิเบต พระธิเบต ทั้งชายและหญิง เป็นจำนวนมาก ที่จะมาสักการะศาสนสถาน แบบอัษฎางคประดิษฐ์ คือ เดิน 3 ก้าว แล้วก้มลงกราบกับพื้นไหว้ที หนึ่ง ดูแล้วเป็นการฝึกขันติ และฝึกสมาธิ ที่ยอดเยี่ยมมาก
… ที่แปลกคือเห็นชาวตะวันตกบางคนก็มาร่วมการกราบแบบอัษฎางคประดิษฐ์ นี้ด้วยเช่นกัน เคยมีคำทำนายว่า ศาสนาพุทธจะกลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้งในซีกโลกตะวันตก ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าจะเป็นจริง แต่ก็พอเห็นแนวโน้มที่ชาวตะ วันตกซึ่งชอบใช้หลักของเหตุ และผล หันเข้ามานับถือศาสนาพุทธกันบ้างแล้วเหมือนกัน ไม่มาก ไม่น้อย พอมีให้เห็นอยู่
วันที่ 5 ของการเดินทาง ผมมาถึง สารนาถ หรือ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แห่งเมืองพาราณสี ที่นี่เป็นสังเวชนียสถานที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ เมื่อวันเพ็ญอาสาฬหมาสก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี
จากหนังสือสู่แดนพระพุทธองค์ อินเดีย-เนปาล … พระราชรัตนรังษี กล่าวไว้ว่า ป่าอิสิปตนมฤคทายวันเป็นป่า ไม้ที่มีความรื่นรมย์ เล่ากันว่าเป็นที่ตกลงมาของเหล่าฤาษี เพราะไม่ว่าฤาษีจะเหาะมาจาก ทิศใดๆก็ตามจะตกลงมา ณ ที่นี้
คำว่า “สารนาถ” นำมาจากคำว่า “สารังคนาถ” แปลว่า พื้นดินที่เป็นทีพึ่งของสัตว์เช่น กวาง “สารนาถ” หมายถึง ที่พึงอันประเสริฐของมวลมนุษย์ จากการประกาศพระธรรมจักรคือทางเดินที่เลือกไว้ดีแล้ว
ศาสนาพุทธตั้งมั่นอยู่ในดินแดนแห่งนี้ที่ซึ่งมีหลายลัทธิ หลายศาสนา เป็นสถานที่เกิดความขัดแย้งทางความเชื่อและศรัทธา ชาวพุทธรุ่นหลังจึงนิยมสร้างศาสนวัตถุหุ้มห่อปกป้องศาสนธรรม ด้วยการสร้างวัดของตนให้แข็งแรง ที่สารนาถแห่งนี้ มีห้องลับสำหรับเก็บพระคัมภีร์ไม่ยอมให้ผู้ใดที่ไม่ใช่ชาวพุทธทราบ จากมูลคันธกุฎี (ที่สารนาถ ตามรูปด้านบน) มีทางแคบๆไปสู่ห้องใต้ดินซึ่งเป็นห้องเก็บพระคัมภีร์ ดังนั้น จะเห็นว่าอิสิปตนเคยเจริญคู่กับความเสื่อมสลับกลับกัน ทำให้เรามองเห็นความเป็นสัจจะแห่งอนิจจังชัดขึ้น
“อนุปัททุตัง อิทัง อนุปสุฏฐง” ที่นี้ไม่วุ่นวาย ที่นี้ไม่ขัดข้องยสเจตียสถาน เป็นสถานที่แห่งความไม่ขัดข้อง ไม่มีความวุ่นวาย เป็นเจดีย์ขนาดเล็ก อาคารสี่เหลี่ยมมุงไว้เป็นอย่างดี สถานที่นี้เชื่อกันว่า พระพุทธองค์ทรงแสดงอิทธาภินิหาร โปรดพระยสกุลบุตร ผู้เป็นบุตรเศรษฐีแห่งเมืองพา ราณสี ด้วยอนุปุพพิกถา ในข้อธรรมที่แสดงทาน ศีล สวรรค์ เนขัมมะ กามทีนพ ตามลำดับ เป็นผลให้ พระยสมานพได้ดวงตาเห็นธรรม และนำให้บิดาได้เป็นปฐมอุบาสก มารดาและภรรยาได้เป็นปฐมอุบาสิกา ณ สถานที่นี้ด้วย
ธัมเมกข มาจากคำว่า ธมม (ธรรม) และ อิกขะ (เห็น) หมายถึงสถานที่แสดงธรรมที่นำให้ถึงความหลุดพ้นสถูปโบราณทรงบาตรคว่ำก่อด้วยหินทราย สถูปสร้างอุทิศแด่ผู้เห็นธรรม มียอดทรงกรวย สูงประมาณ ๘๐ ฟุต วัดโดยรอบประมาณ ๑๒๐ ฟุต สร้างในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เป็นสถานที่พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนาโปรดพระปัญจวัคคีย์ ท่านผู้เดินทางไปแสวงบุญนิยมมาเจริญภาวนา บูชาสักการะกันในบริเวณนี้
ภาพลายหินแกะสลักอันสวยงามบน ธัมเมกขสถูป มองเห็นลวดลาย ด้านบนมองดูแล้วเหมือนดวงตา ถัดลงมาคือเครื่องหมาย “สวัสดิกะ” อันเป็นเครื่องหมายแห่งพลวัตร การเคลื่อนไหว ความไม่หยุดนิ่ง ความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เป็นเครื่องหมายแห่งการหล่อเลี้ยงสรรพชีวิต สามารถพบเห็นได้ในศาสนสถานของทั้ง ชาวพุทธ ฮินดู และเชน
หลายคนเข้าใจว่าสวัสดิกะเป็นเครื่องหมายของ “นาซีเยอรมัน” แต่หากสังเกตุให้ดีจะพบว่า สัญลักษณ์ของ นาซี สลับด้านกันและเอียง 45 องศา แม้แต่ชาวยุโรปเองก็ยังไม่เข้าใจว่า สวัสดิกะ กับ เครื่องหมาย นาซี ต่างกัน จนเมื่อปี 2548 ได้มีการเสนอต่อที่ประชุมประชาคมยุโรปให้มีการห้ามใช้ตราสวัสดิกะนี้ทั่วทั้งยุโรปในฐานะซากเดนของนาซีที่ไม่พึงประสงค์ ร้อนถึงพี่น้อง ชาวฮินดู ทั้งหลายต้องออกมาร้องทุกข์ว่า ดวงตรานี้ที่แท้แล้วเป็นตรามงคลแห่งสันติที่แพร่หลายมาแล้วกว่า 5,000 ปี
…สัญลักษณ์และการตีความในสังคมที่แตกต่างกัน มันกลับกลายจากขาวเป็นดำไปได้ ด้วยความไม่เข้าใจและขาดความรู้ถึงที่มาโดยแท้ อดสงสัยไม่ได้ว่า การตีความ สัญลักษณ์ ภาษาโบราณ ตามโบราณสถานอื่นๆ ที่ชนชาติตะวันตกตีความกันนั้น ถูกต้อง แค่ไหน อย่างไร