ที่ราชคฤห์ ผมกำลังมุ่งหน้าไปยัง มูลคันธกุฎีบนเขาคิชฌกูฏ อันเป็นสถานที่ประทับอีกแห่งหนึ่งของพระพุทธองค์
“มหาราชา มหารานี”
“มหาราชา มหารานี”
“มหาราชา มหารานี”
เป็นเสียงที่จะได้ยินไปตลอดตามบันไดทางเดินขึ้นเขาแห่งนี้ ภาพของ หญิงชรา เด็ก คนพิการ คนตาบอด มีให้เห็นไปตลอดทาง แต่ที่ดูจะแตกต่างจากที่อื่นคือ พวกเขาเหล่านี้จะนั่งเป็นระเบียบ เรียบร้อย อยู่กับที่ ไม่เดินเข้ามาขอเงินเหมือนที่อื่น
ตามความคิดเดิมๆของผม แม้แต่คนพิการ ไม่มีแขน ไม่มีขา เขาก็ยังสามารถทำงานหาเงินมาเลี้ยงชีพตัวเองได้ นับประสาอะไร ทำไมต้องเอาเงินมาให้คนมีมือ มีเท้า อวัยวะครบ 32 ด้วยเล่า หากแต่เมื่อพิจารณาดูอีกที พวกเขาเหล่านี้ต้องตกอยู่ภายใต้ระบบชนชั้นวรรณะ ที่เผอิญความโชคร้ายตั้งแต่กำเนิด ผลักไสไล่ส่งให้พวกเขาตกอยู่ในสถานะที่ไม่มีทางเลือก
ความคิดที่คับแคบของระบบวรรณะมันร้ายแรงขนาดที่ว่า หากอยู่ต่างชั้นวรรณะกันแล้ว แม้แต่เงาเขาก็ยังไม่อยากจะเหยียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับพวกจัณฑาลที่เกิดจากคนข้ามชั้นวรรณะกันแล้ว (แม่มีวรรณะสูงกว่าพ่อ) พวกเขาคือกลุ่มคนที่ไม่มีวรรณะ จะต้องถูกบอยคอตออกจากสังคมของคนที่มีวรรณะไปตลอดกาล และไม่สามารถมีโอกาสเหมือนคนปกติทั่วไป ศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของพวกเขามันแถบไม่มีเหลืออยู่เลย ในดินแดนแห่งนี้ .. สิ่งเดียวที่พอทำได้ในเวลานั้นก็คือการแบ่งปันเงินเล็กๆน้อยๆที่อาจจะพอช่วยให้เขาประทังชีวิตต่อไปได้ นี้ละครับ “ชีวิต”
ถ้ำพระโมคคัลลานะ
ขึ้นเขาไปสักระยะจะพบถ้ำพระโมคคัลลานะ เป็นอีกจุดหนึ่งบนเขาคิชฌกูฏที่น่าสนใจ เชื่อกันว่าบริเวณนี้เป็นจุดที่พระเทวทัตพยายามกลิ้งก้อนหินลงมาเพื่อหมายเอาชีวิตของพระพุทธองค์
ผมถ่ายรูปบริเวณด้านบนของถ้ำมาให้ดู จะมองเห็นก้อนหินก้อนเล็กๆวางระเกะระกะอยู่ อ่านจากหนังสือจึงรู้ว่าผู้แสวงบุญจะมาโยนก้อนหินขึ้นไปเหนือถ้ำและอธิษฐานขอให้ชีวิตอย่าได้ตกต่ำ
… ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าการโยนก้อนหินไปไว้เหนือถ้ำจะช่วยให้ชีวิตไม่ตกต่ำได้อย่างไร และก็ไม่คิดที่จะทำแบบนั้นด้วย ด้วยเกรงว่าถ้าเผอิญโยนก้อนหินไปแล้วมันดันตกลงมาไม่ไปค้างอยู่เหนือถ้ำ จิตอาจจะตกและฟุ้งซ่านไปต่างๆนาๆได้ หรือหนักกว่านั้นหินที่โยนขึ้นไปอาจจะกระเด็นไปโดนหินก้อนอื่นแล้วตกลงมาใส่ศีรษะพร้อมกัน ตัวผมอาจจะกองลงสู่พื้นทางเดินเบื้องต่ำ ณ เวลานั้นเลยก็เป็นได้
ที่บริเวณหน้าถ้ำพระโมคคัลลานะนี้ ผมได้พบกับ ศิลปะกองหิน ที่วางเรียงต่อยอดกันเป็นชั้นๆมีลักษณะคล้ายองค์เจดีย์ให้เห็นอยู่หลายกองเลยทีเดียว เท่าที่ทราบ(จากคนใกล้ๆตัว) ศิลปะการวางซ้อนหินแบบนี้เป็นผลงานของ คนธิเบต ที่ทำขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา
…โดยพวกเขาเชื่อว่าหากทำกันมากๆก็จะสามารถรวบรวมกองหินเหล่านี้ไปสร้างเป็นองค์เจดีย์จริงได้เลย แนวความดิดแบบนี้ดูจะเข้าท่ากว่าการโยนก้อนหินไปไว้ที่สูงเป็นไหนๆ ว่าไหมครับ
ก่อนจะถึงมูลคันธกุฎี หรือบางท่านเรียกว่า พุทธวิหารคิชฌกูฏ จะถึงลานหินที่ส่วนบนมีหินก้อนใหญ่ชะโงกออกมา เป็นโพรงลึกเข้าไปพอหลบลมร้อน พีกหลบฝนได้ ที่แห่งนี้เองเรียกว่า ถ้ำสุกรขาตา หรือ สุกรขาตเลนะ ซึ่งหมายถึง เพิงผามีรูปเหมือนคางหมู หรือถ้ำหมูขุด
ในพุทธกถาเล่าว่า พระสารีบุตรกำลีงนั่งถวายงานพัด ระลึกตามกระแสธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง เมื่อจบธรรมเทศนาลง จิตก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะความไม่ถือมั่น ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เมื่อวันมาฆปุรณมี เพ็ญเดือน ๓ ณ ถ้ำสุกรขาตา หลังจากอุปสมบทแล้ว ๑๕ วัน
สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด เราจะพบรูปหินที่คนสมัยก่อนบอกว่ามองดูคล้ายหัวนกแร้ง อันเป็นที่มาของชื่อ คิชฌกูฎ ที่แปลว่า ภูเขานกแร้ง บางข้อมูลบอกว่า สมัยก่อนเป็นที่เกาะอาศัยของฝูงแร้งที่มาคอยกินซากศพโจรที่ถูกประหารด้วยการทิ้งลงเหว
เขาคิชฌกูฎ
“คิชฌกูฎเป็นเขาหินที่ตั้งอยู่ตามธรรมชาติ มีโขดเขา ชะง่อนผา บางแห่งเป็นชะโงกเงื้อม เหมือนม่านที่ศิลปินประดิษฐ์ขึ้นจากมโนภาพ บางที่มีโพรงลึกเหมือนถ้ำที่พระอรหันต์ทั้งหลายอาศัยจำพรรษา เป็นที่สัปปายะของเหล่าอริยะสาวก ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนากล่าวว่า เป็นที่จำพรรษาของพระอรหันต์หลายองค์ในครั้งพุทธกาล เช่น พระสารีบุตร พระอานนท์ พระมหากัสสปะ พระอนุรุทธะ พระปุณณมันตานีบุตร และพระอุบาลีเป็นต้น” … คัดจากหนังสือสู่แดนพระพุทธองค์ อินเดีย-เนปาล
ถ้ำสุกรขาตา หรือ สุกรขาตเลนะ