อินเดีย .. นาลันทา จากอดึตสู่ปัจจุบัน

Posted by

ที่มหาวิทยาลัยแห่งนาลันทา สาวน้อยน่ารักชาวฮินดูนางหนึ่งถูกผมจับตัวมาเป็นนางแบบ แบบที่เจ้าตัวไม่ค่อยจะเต็มใจนัก ดูไม่ออกว่าเธอกำลังจะยิ้ม กำลังจะร้องไห้ หรือกำลังสงสัยว่าผมเป็นใคร


ไม่นานนักที่คุณแม่ของเธอเดินมาเห็นว่าลูกสาวถูกชาย(ค่อนข้าง)หนุ่มจับตัวมาเป็นแบบ แม่เธอจึงส่งเสียงมาดังๆให้ได้ยินเป็นภาษาอินเดีย…จากนั้นไม่นานสาวน้อยก็เริ่มจะยิ้มได้ ถ้าเป็นที่บ้านเราผมอาจจะหัวแตกไปแล้ว แต่ที่นี้ผมรอดตัว(หัว)ไป เป็นวันสบายๆอีกวันหนึ่งของครอบครัวชาวอินเดียและนักเดินทางอย่างผม ที่ได้มาเยือนนาลันทาแห่งนี้
แต่หากย้อนอดีตไปแล้ว เรื่องราวที่เกิดขึ้นที่นี้คือภาพของความโหดร้ายที่มนุษย์ได้กระทำบาปกรรมอย่างเหี้ยมโหดกับมนุษย์ด้วยกัน เพียงเพราะเขาเหล่านั้นมีความเชื่อที่ต่างกัน ประวัติศาสตร์ได้บอกเล่าเรื่องราวต่างๆไว้มากมาย เพียงแต่มนุษย์มิได้เรียนรู้จากประวัติศาสตร์เหล่านั้นเลย หรือเรียนแล้ว รู้แล้ว แต่ก็ยังตกเป็นทาสแห่งกิเลส ลุ่มหลงในตัณหาแห่งอำนาจ ความต้องการของตนเองอันไม่สิ้นสุด
จากหนังสือ สู่แดนพระพุทธองค์ อินเดีย-เนปาล … พระราชรัตนรังษี บอกเล่าเรื่องราวความสำคัญของนาลันทาไว้อย่างละเอียด แต่จะขอยกมาให้เห็นภาพเรื่องราวพอสังเขปดังนี้

นาลันทา เคยเป็นศูนย์กลางของศาสนาเชน ซึ่งอยู่คู่กับเมืองเวสาลีมานาน เดิมชื่อ “นาลันทคาม” เป็นแดนมาตุภูมิของ ๒ พระอรหันต์ คือพระสารีบุตร พระธรรมเสนาบดี ผู้เรืองโรจน์ด้วยปัญญา อัครสาวกเบื้องขวา กับ พระโมคคัลลานะ ผู้เลิศด้วยฤทธิ์ อัครสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นกำลังสำคัญยิ่ง ที่ได้สนองงานเผยแพร่พระพุทธศาสนา
 
“สถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพในอินเดียยุคนั้นมี ๔ เมืองคือ ตักสิลา มถุรา อุชเชนี และนาลันทา แต่ที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับออกสู่สายตาของต่างประเทศ ก็คือมหาวิทยาลัยนาลันทานี้เอง”
 
…เยาหราล เนห์รูเขียนไว้ใน Glimpses of World History
ในครั้งพุทธกาลนาลันทามหาวิหารแห่งนี้เป็นสวนมะม่วงของ ทุสสปาวาริกเศรษฐี ได้อุทิศถวายแก่พระพุทธเจ้า ในยุคหลังที่กษัตริย์อินเดีย ราชงาศ์คุปตะทรงเข้ารับอุปถัมภ์ ทำให้นาลันทาพัฒนาขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ เป็นหน้าเป็นตาในหมู่นักศึกษา แม้แต่มหาวีระศาสดาแห่งศาสนาเชนหรือชินะ ผู้เชื่อมั่นในการเปลือยกาย ก็มาเผยแพร่คำสอนที่นี้ด้วยเหมือนกัน
 
มีเรื่องเล่าว่า สาวกของพระพุทธเจ้าเคยปุจฉาธรรมกันหลายครั้ง ปรากฏว่าปัญหาที่ศาสดามหาวีระยกมาถาม พระพุทธเจ้าทรงตอบได้หมด แต่คำถามที่ศิษย์สาวกของพระพุทธเจ้าทรงตรัสถามกลับไป พระมหาวีระอึกอักตอบไม่เต็มเสียง สาวกของพระมหาวีระจึงละทิ้งแนวทางเดิม หันมานับถือพระพุทธศาสนากันจำนวนมาก ขณะที่ศิษย์พระตถาคตยังมั่นในศรัทธาอยู่เช่นเดิม
นาลันทา สังฆารามสถานศึกษาในทางพุทธศาสนา ถึงพร้อมด้วยนักศึกษาผู้มีปัญญายอดเยี่ยม ขึ้นชื่อในทางคัมภีร์และประกอบด้วยศิลปะงดงามหาที่เปรียบไม่ได้ ทหาวิทยาลัยจึงเปรียบประหนึ่งเป็นที่รวมเมืองใหญ่ๆของจักรพรรดิ์ทั้งหลาย สังฆารามตั้งอยู่โดยรอบแต่ละแห่งมียอดสูงสง่าราวกับว่าจะสัมผัสกับก้อนเมฆ ความงดงามของสังฆารามที่เสกสร้งกันเปรียบเหมือนหนึ่งพวงมาลัยอันเป็นเครื่องประดับโลก
หลวงจีนฟาเหียน(พระถังซัมจั๋ง)เคยจารึกมาเมื่อพันปีก่อน ได้บันทึกตามที่ได้เห็นว่า “มหาวิหารนาลันทา มีอาคารงดงาม ดูระยิบระยับประดุจดาว ศาลายกทรงสูงดุจภูผา วัดสูงเสียดยอดสู่สายหมอก หอบูชายืนตระหง่านเหนือเมฆ สายน้ำสีเงินยวงไหลรินผ่านสวนดอกบัวละลานตา ท่ามกลางความสะพรั่งของไม้จันทน์ถัดออกไป ซุ้มมะม่วงแผ่กระจายปกคลุมไปถั่ว ไม้คร่าวของอาคารเป็นสีรุ้งและแกะสลักเป็นรูปสัตว์ต่างๆ สานั้นเล่าเป็นสีแดงและสีเขียว”

 
พระถังซัมจั๋งจาริกมาถึงนาลันทาในปี พ.ศ. ๑๓๐๐ ได้บันทึกไว้ว่าพระเจ้าหรรษวรรธนะ แห่งราชวงศ์คุปตะ (พ.ศ.๑๑๔๙-๑๑๙๑) ทรงให้ความอุปถัมภ์แข็งแรง โดยทรงตั้งกุฏิเป็นโลหะทั้งหลัง ถวายราชทรัพย์ภาษีจากหมู่บ้าน ๑๐๐ หมู่ ให้แก่มหาวิทยาลัยทั้งหมด และทรงกำหนดให้ชาวบ้าน ๒๐๐ ครัวเรือนในหมู่บ้าน คอยจัดหาข้าวสาร นมเนย ถวายพระภิกษุในมหาวิทยาลัยไม่ให้บกพร่อง
 
พระถังซัมจั๋งเดินทางจากแผ่นดินจีนเข้ามาเป็นศิษย์ศึกษาสรรพวิชาและทำหน้าที่เป็นอาจารย์สอนของสำนักนาลันทาแห่งนี้ ท่านเคยเล่าถึงบรรยากาศการเรียนการสอนในครั้งนั้นว่า “การถามตอบเป็นไปอย่างลึกซึ้งใช้เวลาตลอดวันยังไม่พอ ต่างอภิปรายถกเถียงกันด้วยหลักวิชา ตั้งแต่เช้าจนถึงกลางคืน ทั้งคนอาวุโสและคนหนุ่มต่างช่วยซึ่งกันและกัน ผู้ไม่สามารถอภิปรายปัญหาธรรมจากพระไตรปิฎกได้ ย่อมไม่ได้รับการยกย่องนับถือ และมักจะหลบซ่อนตัวเองด้วยละอายแก่ใจ”
 

หลวงจีนบันทึกว่า ที่ตั้งของมหาวิทยาลัยหรือสังฆาราม เริ่มสร้างในแผ่นดินพระเจ้าสักกราทิตย์ ภายหลังพระพุทธองค์ปรินิพพานไม่นานนัก พระเจ้าสักกราทิตย์ได้ยินคำทำนายว่า สถานที่ตรงนั้นเป็นอุดมโชค จึงให้สร้างสำนักสงฆ์ขึ้น เมื่อลงมือขุดดิน ได้ไปถูกพระยานาคถึงเลือดออก หมอดูคนหนึ่งเป็นพวกนิครนถ์ทำนายว่า ที่นี้เป็นสำคัญยิ่ง จะร่งเรืองเป็นศูนย์กลางของสรรพโลกถึงหนึ่งพันปีจะมีคนมาจากจตุรทิศเพื่อมาศึกษาเล่าเรียน แต่หลายคนจะกระอักเลือด เพราะทำให้พระยานาคเลือดตกนั้นเอง
ท่านมหาเถระ เจกัสสปะ เล่าว่า นาลันทามีเงาสัญญาณแห่งความล่มสลายในปี พ.ศ.๑๑๗๒ เมื่อพวกมุสลิมเข้ามารุกรานแผ่นดินอินเดีย ขยายพื้นที่ยึดครองผ่นดินชมพูทวีปมาจนถึงนาลันทาในปี พ.ศ.๑๗๖๖ แม่ทัพใหญ่ชื่อ ภัขติยาร์ ขิลจี ให้ลูกชายชื่อ อิคเทีย ขิลจี คุมทหารม้า ๒๐๐ เดินทัพมาถึงนาลันทา ขณะนั้นมหาวิทยาลัยได้ล่วงโรยไปมากแล้ว แต่ยังมีพระภิกษุ และสามเณรศึกษาพักกันอยู่เต็ม 

 
พวกมุสลิมเข้ามาถึงก็ประกาศไล่ให้ออกจากสถานที่ ใครไม่ออกก็ถูกฆ่าตายอย่างทารุณคือ เอาขวานฟันสะพายแล่ง หรือฟันคอ มีนักศีกษาหลายคนที่ไม่ยอมหนีออกจากที่พัก มุสลิมจึงใช้วิธีเอาเชื้อไฟสุมที่ตรงประตูทางเข้า แล้วเผากุฏิทั้งหลัง  เป็นวิธีคอกให้ตายในกองไฟ ผลคือพระภิกษุตายคาผ้าเหลืองไปหลายร้อยองค์ จากนั้นก็ลงมือพังกุฏิ สังฆาราม สำนักศึกษาและที่ประชุมทั้งหมด เทวรูป พุทธรูป และตำราหลายพันเล่ม ถูกขนออกมาเผา พร้อมทั้งวางเพลิงมหาวิทยาลัยให้มอดไหม้อยู่ ๖ เดือน จึงสิ้นซาก
…แม้อดีต นาลันทา จะผ่านความเศร้าระทมมาเพียงใด 

ปัจจุบัน นาลันทา ได้ฟื้นกลับขึ้นมามีชีวิตอีกครั้งในนาม สถาบันการศึกษาสายบาลีนาลันทา (Nalanda Pali Institute) เปิดขึ้นเมื่อต้นเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๗ เพื่อระลึกถึงมหาวิทยาลัยแห่งนาลันทาในอดีต โดยมุ่งเน้นให้นักศึกษามีความรู้ทางพระพุทธศาสนา ทั้งในระดับปริญญาตรีและโท หลักสูตรการสอนเช่น พระสูตร ๑๘ พระสูตร มัชฌิมนิกาย ๑๐ สูตร สุตตนิบาต ๕ สูตร ทีฆนิกาย ๓ สูตร วินัยมุข ภิกขุปาฏิโมกย์ สมันตปาสาทิกา มหาวรรค พระอภิธรรม วิสุทธิมรรค บาลีสันสกฤต ฮินดี มหายาน ฮินดู และขนบธรรมเนียมอินเดีย เป็นต้น

Leave a Reply